VoIP เสียงกระซิบจากเทคโนโลยีแห่งอนาคต

ไม่อาจปฏิเสธได้เลยว่า เทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตได้เปิดศักราชใหม่ในการติดต่อสื่อสารสำหรับผู้คนบนโลกใบนี้ ด้วยเครือข่ายที่เปรียบเสมือนใยแมงมุม การติดต่อสื่อสารของผู้คนจึงเป็นไปด้วยความรวดเร็วและเปี่ยมด้วยประสิทธิภาพ พร้อมวิวัฒนาการในการใช้งานระบบให้เป็นไปอย่างคุ้มค่า ทั้งเพื่อทดแทนเทคโนโลยีที่มีมาในอดีต พร้อมๆ กับเป็นหนทางเชื่อมต่อเทคโนโลยีที่จะมีขึ้นมาในอนาคต VoIP คือหนึ่งในเทคโนโลยี ที่เปรียบเสมือนเสียงกระซิบที่พร้อมจะกึกก้องในอนาคตอันใกล้…

ด้วย พัฒนาการทางด้านเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์และสารสนเทศที่ไม่เคยหยุดนิ่ง ทำให้ทุกวันนี้มีบริการมากมายให้เราได้เลือกใช้ได้อย่างที่ต้องการ และเทคโนโลยีที่เป็นหนึ่งในนั้นก็คือ บริการโทรศัพท์ผ่านระบบอินเทอร์เน็ต ที่รู้จักในชื่อที่แตกต่างกันออกไป ไม่ว่าจะเป็น VoIP, Voice over IP, Voice over Internet Protocol, Net Phone, Web Phone หรือ Internet Telephone ซึ่งล้วนแล้วแต่หมายถึง เทคโนโลยีซึ่งหลอมรวมการสื่อสารสัญญาณเสียง กับการสื่อสารด้วยสัญญาณข้อมูลเข้าไว้ด้วยกัน ทั้งนี้ก็เพื่อให้การส่งผ่านสัญญาณทั้งสองไปบนระบบเครือข่ายด้วยโปรโตคอลที่ ใช้กันอย่างแพร่หลายในปัจจุบันอย่าง IP (Internet Telephone) ได้ หรือจะให้เข้าใจให้ง่ายขึ้นก็คือ การบริการที่ใช้เครื่องคอมพิวเตอร์ ในการสื่อสารพูดคุยแลกเปลี่ยนกัน แทนการใช้เครื่องโทรศัพท์แบบเดิม ผ่านทางระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ตนั่นเอง

ตัวอย่าง ของการใช้งานเทคโนโลยี VoIP ที่หลายท่านคุ้นเคยกันเป็นอย่างดี ก็คือ โปรแกรม MSN Messenger, Microsoft NetMeeting ซึ่งสามารถพูดคุยกันผ่านระบบอินเทอร์เน็ตได้ จึงทำให้เราประหยัดค่าใช้จ่ายในการใช้งานโทรศัพท์อย่างมากมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการโทรศัพท์ทางไกล ถ้าเราเปลี่ยนมาใช้งาน VoIP ก็เพียงเสียค่าใช้จ่ายในด้านการเชื่อมต่อเครื่องข่ายอินเทอร์เน็ตเท่านั้น

สำหรับบริการโทรศัพท์ผ่านอินเทอร์เน็ตนั้น สามารถทำได้หลายวิธี ดังนี้
1.จากเครื่องคอมพิวเตอร์ไปสู่เครื่องคอมพิวเตอร์ (PC-to-PC) โดยวิธีการนี้จำเป็นต้องอาศัยเครื่องคอมพิวเตอร์ทั้งต้นทางและปลายทาง พร้อมทั้งติดตั้งโปรแกรมเดียวกัน หรือติดตั้งโปรแกรมที่สามารถใช้งานร่วมกันได้ ซึ่งรูปแบบนี้เป็นวิธีการสื่อสารที่ไม่ต้องเสียค่าบริการโทรศัพท์แต่อย่างใดเลย
2. จากเครื่องคอมพิวเตอร์สู่เครื่องโทรศัพท์ (PC-to-Phone) เป็นรูปแบบที่ใช้ได้กับผู้ใช้ต้นทางที่มีเครื่องคอมพิวเตอร์และโปรแกรม โทรศัพท์ โดยผู้รับปลายทางนั้นใช้เครื่องโทรศัพท์ธรรมดา แต่วิธีนี้ต้องอาศัยผู้ให้บริการในการเชื่อมต่อระบบอินเทอร์เน็ตเข้ากับระบบ เครือข่ายโทรศัพท์ท้องถิ่น (Internet Telephone Service Provider หรือ ITSP) โดยผู้ใช้บริการต้องเสียค่าบริการตามเวลาที่ใช้งานจริง
3. จากเครื่องโทรศัพท์สู่เครื่องคอมพิวเตอร์ (Phone-to-PC) วิธีการนี้ใช้หลักการเช่นเดียวกันกับ PC-to-Phone แต่ต้นทางจะเป็นเครื่องโทรศัพท์ธรรมดา ขณะที่ปลายทางนั้นเป็นเครื่องคอมพิวเตอร์ และโปรแกรมโทรศัพท์แทน ซึ่งผู้ใช้งานต้องเสียค่าบริการตามที่ใช้งานจริงเช่นเดียวกัน
4. จากเครื่องโทรศัพท์สู่เครื่องโทรศัพท์ (Phone-to-Phone) เป็นวิธีที่ทั้งต้นทางและปลายทางจะต้องอาศัยการบริการจาก ITSP ซึ่งทำให้ค่าบริการสูงกว่าวิธีอื่นๆ แต่เป็นวิธีที่ง่ายและเป็นที่คุ้นเคยในการใช้งานมากที่สุดด้วย

ขั้นตอนการทำงานของ VoIP
1. เมื่อผู้พูดโทรศัพท์จากเครื่องโทรศัพท์ธรรมดา หรือพูดผ่านไมโครโฟนที่ถูกต่อเข้ากับการ์ดเสียงของเครื่องคอมพิวเตอร์ คลื่นสัญญาณเสียงแบบอนาลอก ก็จะได้รับการแปลงเป็นสัญญาณดิจิตัล จากนั้นจะถูกบีบอัดด้วยตัวถอดรหัสผ่านอุปกรณ์ PBX (Private Box Exchange) หรือ VoIP Gateway
2. เมื่อผ่าน VoIP Gateway แล้วก็จะถูกส่งต่อไปยัง Gatekeeper เพื่อค้นหาเครื่องปลายทางที่จะรับการติดต่อ เช่นหมายเลขไอพี หมายเลขโทรศัพท์ เป็นต้น แล้วแปลงเป็นแพ็คเกจข้อมูล ส่งออกไปบนระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ตนั่นเอง
3. จะผ่านมาที่ VoIP Gateway ปลายทางแล้วจึงทำการย้อนกระบวนการทั้งหมดเพื่อส่งให้กับผู้รับปลายทางต่อไป

องค์ประกอบของ VoIP
1. Software Client หรือ IP Telephony อาจจะเป็นเครื่องคอมพิวเตอร์ที่ได้รับการติตตั้งโปรแกรมสื่อสารไอพี หรืออุปกรณ์ที่ได้รับการออกแบบขึ้นมา สำหรับการใช้งานโทรศัพท์ผ่านระบบอินเทอร์เน็ตโดยเฉพาะ
2. VoIP Gateway เป็นเครื่องเซิร์ฟเวอร์ที่ใช้งานสำหรับให้บริการโทรศัพท์ผ่านระบบอินเทอร์เน็ต เป็นตัวกลางในการเชื่อมต่อเข้ากับเครื่องโทรศัพท์ตู้ชุมสายโทรศัพท์สาธารณะ PSTN (Public Switched Telephone Network) กับระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ตอย่างเครือข่ายไอพี ซึ่งการจะใช้งานระบบโทรศัพท์ไอพีต้องอาศัยอุปกรณ์นี้เป็นตัวกลางก่อน
3. Gatekeeper เป็นเครื่องเซิร์ฟเวอร์ที่เชื่อมต่อเข้ากับระบบอินเทอร์เน็ต เป็นตัวกลางที่ใช้บริหารจัดการ และควบคุมการให้บริการของ VoIP Gateway กับเครื่องคอมพิวเตอร์ที่ติดตั้งซอฟท์แวร์สำหรับใช้งาน VoIP หรือเครื่องโทรศัพท์แบบไอพี

คุณสมบัติของอุปกรณ์ VoIP
อุปกรณ์ที่จำเป็นจะต้องมีเมื่อใช้งานเครื่องคอมพิวเตอร์สำหรับบริการโทรศัพท์ผ่านอินเทอร์เน็ต นอกจากจะเป็นเครื่องคอมพิวเตอร์ที่มีอยู่แล้ว ก็ประกอบไปด้วยการ์ดเสียง ลำโพง ไมโครโฟน หูฟัง หรือหูฟังพร้อมกับไมโครโฟน เอียร์คลิป แฮนด์เซ็ต กล้องวิดีโอและอุปกรณ์ที่ใช้สลับสายระหว่างลำโพงกับเฮทเซ็ต จากนั้นก็มีโปรแกรมซอฟท์แวร์สำหรับใช้งาน

แต่ถ้าเป็นอุปกรณ์ที่ได้รับการออกแบบมาเฉพาะงานนั้น ก็มี 2 อุปกรณ์หลักๆ ก็คือ IP Telephony หรือ โทรศัพท์ไอพี ซึ่งนอกจากจะมีหน้าตาที่ดูคล้ายกับโทรศัพท์โดยทั่วไป ที่ใช้งานกันอยู่นั้น ก็ยังมีองค์ประกอบที่แตกต่างกันอยู่ก็คือ จะมีพอร์ตแบบ RJ-45 สำหรับเชื่อมต่อเข้ากับสวิตช์ในระบบเครือข่ายไอพี และพอร์ตที่เชื่อมต่อเข้ากับตู้ PBX ได้ ทำให้เราสามารถใช้งานได้ทั้งการโทรศัพท์แบบปกติทั่วไป หรือจะเลือกใช้งานในแบบโทรศัพท์ไอพีก็สามารถทำได้เช่นเดียวกัน

นอก จากนั้นแล้วก็ยังมีโทรศัพท์ไอพีแบบโมบายล์ ที่มีรูปแบบเช่นเดียวกับโทรศัพท์มือถือที่เราคุ้นเคยกัน โดยสามารถติดต่อสื่อสารในแบบไร้สายมาตรฐาน Wi-Fi ซึ่งต้องเชื่อมต่อผ่านแอคเซสพอยต์เข้าสู่อินเทอร์เน็ตด้วยแล้ว ก็ยิ่งทำให้การใช้งานนั้นมีความยืดหยุ่นยิ่งขึ้นไปอีกด้วย

VoIP Gateway เป็นอุปกรณ์ในรูปแบบเราท์เตอร์ ที่มีคุณสมบัติเช่นเดียวกับเราท์เตอร์ที่ใช้งานกันอยู่ แต่มีคุณสมบัติที่ถูกเพิ่มเติม ให้สามารถรองรับโปรโตคอลการสื่อสารของ VoIP นั่นก็คือ โปรโตคอล H.323, SIP หรือ MGCP เป็นต้น ซึ่ง VoIP Gateway เป็นอุปกรณ์ที่ใช้เชื่อมต่อกับระบบอินเทอร์เน็ต เพื่อให้สามารถโทรศัพท์ผ่านเครือข่ายเน็ตเวิร์คได้ โดยถ้าต้องการใช้งานเป็นจุดเชื่อมต่อเครื่องโทรศัพท์ธรรมดา หรือเครื่องโทรสารให้ใช้งานร่วมกับ VoIP ได้ ก็ต้องเลือกรุ่นที่มีพอร์ตแบบ FXS ซึ่งเป็นพอร์ตที่ใช้เชื่อมเข้ากับเครื่องโทรศัพท์ หรือถ้าต้องการเชื่อมต่อเข้ากับกล่องอุปกรณ์ PBX หรือ PSTN ก็เลือกรุ่นที่มีพอร์ตแบบ FXO นอกจากนั้นก็ยังมีรุ่นที่มีทั้งสองพอร์ตให้เลือกใช้ก็ยิ่งให้ความคุ้มค่าได้ มากมายทีเดียว

ตารางแสดงคุณสมบัติสำคัญของ VoIP

มาตรฐานที่สนับสนุน มาตรฐาน VoIP: โปรโตคอล ITU H.323 V3 VoIP หรือโปรโตคอล SIP
มาตรฐาน IP: IEEE802.3, 10BASE-T, IEEE802.3u, 100BASE-TX
พอร์ต IP Telephony: พอร์ต RJ-45 สำหรับเชื่อมต่อเข้ากับเครือข่ายไอพี, พอร์ต RJ-11 สำหรับเชื่อมต่อเข้ากับระบบโทรศัพท์
VoIP Gateway: พอร์ต FXS สำหรับเชื่อมต่อโทรศัพท์, โทรสาร/พอร์ต FXO สำหรับเชื่อมต่อกับอุปกรณ์ PBX หรือ PSTN, พอร์ต RJ-45 สำหรับเชื่อมต่อเข้ากับเครือข่ายไอพี
จอแสดงผล LCD แบบ Dot Matrix 16 x 2 (สำหรับ IP Telephony)
ฟังก์ชั่นการเข้ารหัสเสียง มาตรฐาน G.711A/g law, G723.1, G729A
ฟีเจอร์ด้านเสียง ลดสัญญาณรบกวนได้
สามารถป้องกันเสียงสะท้อนได้, ให้สัญญาณเสียงที่คมชัด

สิ่งที่เป็นแรงจูงใจให้ผู้ใช้หันมาใช้บริการโทรศัพท์ผ่านระบบอินเทอร์เน็ตกันมากขึ้น ได้แก่ อัตราค่าบริการที่ถูกกว่ามาก เมื่อเปรียบเทียบกับการใช้งานโทรศัพท์ทางไกลผ่านระบบโทรศัพท์ในแบบธรรมดา โดยผู้ใช้งานนั้นจะเสียค่าใช้จ่ายเช่นเดียวกับการโทรศัพท์ภายในพื้นที่เท่านั้น เนื่องจากการโทรทางไกลนั้นจะเรียกผ่านระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ตแทนนั่นเอง ซึ่งจะช่วยให้ผู้ใช้งานประหยัดค่าใช้จ่ายได้อย่างมากมายทีเดียว โดยเฉพาะอย่างยิ่งองค์กร ที่มีสาขาแยกออกไปตามภูมิภาคต่างๆ หรือองค์กรที่ต้องมีการติดต่อประสานงานด้วยโครงข่ายโทรศัพท์อยู่ตลอดเวลา

นับว่าเทคโนโลยี VoIP นั้น เป็นอีกเทคโนโลยีที่กำลังคืบคลานเข้ามามีบทบาทในการใช้งานมากขึ้นเรื่อยๆ นอกจากจะช่วยอำนวยความสะดวกและสนองตอบต่อการใช้งานด้วยความยืดหยุ่นแล้ว VoIP ยังเป็นเทคโนโลยีสำหรับการสื่อสาร ทั้งสัญญาณเสียงและสัญญาณข้อมูลร่วมกันได้อย่างประหยัด และคุ้มค่าที่มีอนาคตสดใสอีกเทคโนโลยีหนึ่งเลยทีเดียว

ที่มาจากนิตยสาร BuyComs