บทความน่ารู้ : เรื่องประวัติความเป้นมาเครื่องโทรสาร
เครื่องโทรสาร เครื่องแฟกซ์ หรือ FACSIMILE / FAX เป็นอุปกรณ์การส่งแผนภาพแผนที่ ลายเส้น จากเครื่องต้นทางไปยังเครื่องปลายทาง โดยต่อเชื่อมเครื่องโทรสารเข้ากับสายโทรศัพท์ที่ท่านมีอยู่ การส่งทำในลักษณะการถ่ายสำเนา ทำให้สามารถส่งเอกสารถึงเครื่องรับปลายทางทุกแห่งที่มีการบริการโทรศัพท์ไป ถึงทั่วประเทศ และต่างประเทศ ข่าวสารจะถึงปลายทางอย่างถูกต้องใกล้เคียงกับต้นฉบับอย่างรวดเร็ว ทำให้ได้รับความสะดวกและประหยัดอย่างยิ่ง
ประวัติความ เป็นมาของเเครื่องแฟกซ์ FAX นั้น ได้มีการพัฒนาสืบต่อกันจากการส่งโทรภาพ (PHOTO TELEGRAPH) ซึ่งได้มีการส่งภาพทางสายทางไกลระหว่างประเทศมาเป็นเวลา 50 ปี ในสมัยก่อนที่ยังไม่มีการสื่อสารระบบดาวเทียมหรือเคเบิลใต้น้ำอย่างใน ปัจจุบันการสื่อสารระหว่างประเทศ เราต้องสื่อสารกันด้วยระบบวิทยุคลื่นสั้น (HIGH FREQUENCY) เมื่อมีการส่งโทรภาพ เครื่องส่งโทรภาพ
จะต้องต่อกัน ด้วยระบบวิทยุโทรคมนาคม บางครั้งเราจึงเรียกว่า วิทยุโทรภาพ (RADIO PHOTO) ซึ่งก็ไม่เป็นที่นิยมใช้กันมากนักเพราะต้องเสียเวลามากประกอบกับปัญหาของ ระบบวิทยุซึ่งขึ้นอยู่กับสภาพดินฟ้าอากาศเวลานั้น ๆ ด้วย ทำให้ภาพที่รับได้ไม่ชัดเจนเพราะการรบกวนของคลื่นวิทยุ และเสียค่าใช้จ่ายสูงมาก คงมีเฉพาะการส่งรูปภาพข่าวหนังสือพิมพ์เท่านั้น
ประมาณ 20 ปีที่ผ่านมา ได้มีการพัฒนาการส่งโทรภาพให้ใช้ส่งแต่ภาพเอกสาร เพื่อทำให้เหมาะกับงานธุรกิจส่งเป็นลักษณะเอกสารโดยใช้เวลาในการส่งน้อยลง และประหยัดค่าใช้จ่ายต่าง ๆ การใช้งานก็ง่ายขึ้น เรียกว่า ‘DOCUMENT FACSIMILE’
ในประเทศ อุตสาหกรรมมีความจำเป็นต้องส่งรูปภาพและลายเส้นจึงต้องใช้โทรสาร และได้มีการพัฒนาเครื่องโทรสารเรื่อย ๆ มา จนได้มีองค์การระหว่างประเทศ ชื่อ ‘CONSULATIVE COMMITTEE INTERNATIONAL TELEPHONE AND TELEGRAPH’ (C.C.I.T.T.) ได้เข้ามากำหนดมาตรฐานของเครื่องโทรสารขึ้นมาเป็นกลุ่ม (GROUP) ต่าง ๆ เช่น พวก I.C. (INTERGRATED CIRCUIT) SENIOR OPTICAL เป็นต้น ตลอดจนการพัฒนาเทคโนโลยีทางเคมี ซึ่งมีความสำคัญมากต่อการบันทึกสำเนาภาพภาครับของเครื่องโทรสารอันเป็นจุด เริ่มต้นที่ทำให้ค่าใช้จ่ายของการใช้เครื่องโทรสารนั้นถูกลง โดยมีการนำเอาระบบ ความร้อนสัมผัส (THERMAL SENSITIVE PAPER) มาใช้บันทึกสำเนาภาพโทรสาร
ตั้งแต่นั้นมา เครื่องโทรสารส่วนมากจะมีการบันทึกสำเนาภาพบนกระดาษด้วยระบบ THERMAL SENSITIVE PAPER แทบทั้งนั้น เพราะเสียค่าใช้จ่ายน้อย เครื่องมีขนาดเล็กลงมาก ไม่ยุ่งยากซับซ้อนทางกลไก และเสียค่าบำรุงรักษาต่ำ
ประเทศไทยได้ เคยมีการนำเอาโทรสารมาทดลองใช้งานกันตั้งแต่ พ.ศ. 2516 หลังจากได้มีการกำหนดมาตรฐานของโทรสารโดยC.C.I.T.T โดยได้กำหนดมาตรฐานของเครื่องโทรสาร GROUP 1 เมื่อปี พ.ศ. 2515 โดยกรมไปรษณีย์โทรเลขได้นำมาทดลองรับ-ส่ง
หน่วยงานสื่อ สารของกระทรวงมหาดไทยก็เคยนำเอาโทรสาร GROUP 1 มาทดลองใช้เหมือนกัน และธุรกิจเอกชนก็เคยนำเอามาทดลองใช้เกี่ยวกับการส่งเอกสารทางธุรกิจด้วย ทว่าเครื่องโทรสาร GROUP 1 นั้น ใช้เวลาในการส่งเอกสารขนาด A4 ถึง ๖ นาที และในการบันทึกภาพทางด้านรับยังไม่ได้รับการพัฒนาเท่าที่ควรเพราะเป็นการ บันทึกแบบ ELECTRO SENSITIVE PAPER ซึ่งมีความเร็วในการบันทึกช้า และเกิดกลิ่นเหม็นด้วย ทำให้ไม่เป็นที่สนใจที่จะใช้ จึงได้เลิกราไป
จนผ่านมาถึงยุค ของเครื่องโทรสาร GROUP 2 ได้มีกำหนดเป็นมาตรฐาน เมื่อ พ.ศ. 2519 แต่การสื่อสารแห่งประเทศไทยเริ่มนำเครื่องโทรสาร GROUP 2 มาทดลองใช้เมื่อปี พ.ศ. 2523 โดยนำมาใช้ในกิจการของการสื่อสารแห่งประเทศไทย ใช้ส่งโทรสารไปยังต่างประเทศและในหน่วยงานของทางราชการต่าง ๆ ด้วย สำหรับงานธุรกิจเอกชนและงานอุตสาหกรรมโดยทั่วไปยังไม่มีใครนิยมใช้กันเพราะ เครื่องโทรสาร GROUP 2 ยังใช้เวลาส่งเอกสาร A4 นานถึง ๓ นาที คุณภาพของสำเนาที่รับได้ยังไม่ค่อยชัดเจนเท่าที่ควร และค่าใช้จ่ายในการใช้งานยังแพงอยู่ ทั้งราคาของเครื่องรับ-ส่งโทรสารยังมีราคาแพงมากด้วย
ในขณะที่ C.C.I.T.T. ได้กำหนดมาตรฐานของเครื่องโทรสาร GROUP 2 ได้ไม่นาน ประเทศญี่ปุ่นได้มีการพัฒนาเครื่องโทรสารความเร็วสูง เรียกว่าระบบ QUICK FAX เป็นระบบ DIGITAL FACSIMILE ซึ่ง C.C.I.T.T ยังไม่ได้กำหนดมาตรฐาน เวลาที่ใช้ในการส่งเอกสาร ขนาด A4 ประมาณ ๑ นาที
ในปี พ.ศ. ๒๕๒๑ ประเทศไทยได้เป็นเจ้าภาพในการแข่งขันกีฬาเอเชี่ยนเกมส์ ครั้งที่ ๘ ระหว่างวันที่ 9-20 ธันวาคม นั้น บริษัท K.D.D. ของประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเป็นบริษัทบริการโทรคมนาคมได้นำเอาเครื่องโทรสารความเร็วสูง (QUICK FAX) มาเปิดบริการชั่วคราว เพื่อส่งเอกสารข่าวสารการแข่งขันกีฬาไปประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเครื่องQUICK FAX ของบริษัท K.D.D. มีคุณภาพของการทำสำเนาภาพชัดเจนมากกว่าเครื่องโทรสาร GROUP 2 และความชัดเจนมีเท่า ๆ กับเครื่องโทรสารที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบัน
ตั้งแต่นั้นมา โทรสารก็เป็นที่สนใจของคนไทยมาก การสื่อสารแห่งประเทศไทยจึงคิดที่จะเปิดเป็นบริการถาวรต่อไป จนกระทั่งวันที่ 14 ธันวาคม 2522 การสื่อสารแห่งประเทศไทยได้จัดสัมมนาบริการโทรสารขึ้นที่โรงแรมนารายณ์ โดยได้เชิญข้าราชการ พนักงานรัฐวิสาหกิจ บริษัทห้างร้าน และสื่อมวลชนมาร่วมสัมมนาพร้อมทั้งได้ทำการสาธิตติดต่อรับ-ส่งโทรสารกับ บริษัท R.C.A. แห่งสหรัฐฯ เพื่อเป็นการแนะนำบริการ
และคำว่า ‘โทรสาร’ ก็ได้รับการบัญญัติขึ้นตั้งแต่นั้นมา การบริการโทรสารสาธารณะได้เปิดบริการเป็นทางการตั้งแต่วันที่ 15 ธันวาคม 2522 เป็นต้นมา โดยเปิดบริการโทรสารระหว่างไทย-อเมริกาก่อนเป็นสายแรก แต่ต่อมาก็ได้เปิดบริการกับประเทศต่าง ๆ เกือบทั่วโลก
ปัจจุบัน ความเร็วสูงสุดของการรับส่งแฟกซ์อยู่ที่ 33.6kps หรือ Super G3 ส่งแฟ็กซ์รวดเร็วและชัดเจนด้วยโมเด็มในตัวที่สามารถส่งเอกสารที่มีความคมชัดสูงด้วยความเร็ว 3 วินาทีต่อหน้า
“ข้อมูลสนับสนุนจากหนังสือ 106 ซองคำถาม / สำนักพิมพ์สารคดี”
ที่มาจาก : guru. sanook. com